จับตาภาษาไทย
ครูนุช ม่วงเก่า
น้องน้ำ
จับตาภาษาไทยฉบับนี้ ครูนุชชวนสนทนาภาษาน้ำท่วมกันต่อนะคะ
“น้องน้ำ” คำนี้เป็นความงามในภาษาอีกเหมือนกัน
การการสมมติสรรพสิ่งที่ไม่ใช่คนให้เป็นคน ภาษาวิชาการเขาเรียกว่า
บุคคลวัต ค่ะ คำนี้นักเรียนม.ปลายจำให้ดีนะคะ
คำว่า “น้องน้ำ” ยังแสดงอิทธิพลของภาษาอีกอย่างหนึ่ง ความละเอียดลออในการสื่อสารในปัจจุบันมีมากขึ้น
คำบางคำอาจก่อให้เกิดความรู้สึกกดขี่ หรือ ฟังดูเหยียดหยาม
จึงมีการเลี่ยงคำเกิดขึ้น เช่น เราไม่เรียกผู้ใช้แรงงานว่า
กรรมกร ไม่เรียกคนทำงานบ้าน ว่า
คนใช้ ไม่เรียกหญิงขายบริการว่า โสเภณี ฉะนั้น
การนับญาติกับน้ำก็นับเป็นการสร้างความรู้สึกดีๆในการใช้ภาษา ทั้งนี้ไม่นับ “พ่อน้ำ” นะคะ คำว่า “ พ่อน้ำ” ทีตีคู่มากับ “น้องน้ำ” นั้นเป็นคนละกรณีกัน
กรณีนี้เป็นสัญลักษณ์ค่ะ สัญลักษณ์ว่า น้ำ คือ ภัย เพราะฉะนั้น พ่อน้ำ ก็คือ
ภัยตัวพ่อ หรือจะเรียกว่า มหาภัยก็น่าจะถูก คงไม่ต้องบอกนะคะว่า
ผู้ที่ได้รับฉายาว่า พ่อน้ำ คือใคร
“ถุงจัดหนัก”
คำนี้เป็นคำเกิดใหม่จากสถานการณ์น้ำท่วมค่ะ
คนไทยเป็นคนอารมณ์ดี มองโลกในแง่ดี
ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากมหาอุทกภัย จะพยายามคิดในทางดี เช่น
๓๐ ปีได้ล้างบ้านสักทีก็ดีเหมือนกัน
แฟชั่นน้ำท่วมก็ออกมาสารพัดแบบ
หากิจกรรมสนุกๆทำเต้นรำในสายน้ำ
นอนฟังวิทยุบนแพที่ทำจากโฟม เป็นต้น
และสิ่งที่ต้องขอบคุณน้องน้ำอีกอย่างก็คือ
มีนวัตกรรมใหม่ๆเกิดขึ้นจากน้ำท่วมมากมาย ครูนุช หมายถึงนวัตกรรมจริงๆค่ะ
ไม่ใช่เสียดสี อย่าง “ถุงจัดหนัก “
เนี่ยเป็นนวัตกรรมของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ที่คิดวิธีการปลดทุกข์ให้ปลอดภัยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมที่ย่ำแย่อยู่แล้ว ด้วยการประดิษฐ์”ถุงจัดหนัก” “ถุงจัดหนัก”
ก็คือถุงใส่ อึ นั่นแหละค่ะ พอปลดทุกข์เสร็จก็รวบรวมถุงจัดหนักเล็กใส่ถุงใหญ่ จัดการฝังดิน
แล้วถุงนั้นก็จะสลายตัวในดินได้ เป็นหนึ่งนวัตกรรมที่เกิดมาจากน้ำท่วม น่าสนใจทีเดียวค่ะ ฉบับหน้าจะเล่าถึงนวัตกรรมอื่นๆต่อไป อย่าลืมติดตามนะคะ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น