ข่าวประกวด

ข่าวประกวด

ข่าวโรงเรียน

วันที่ 12 มิถุนายน 2557 โรงเรียนตาคลีประชาสรรค์ จัดงานไหว้ครู ณ.หอประชุม TP HALL วันที่ 12 มิถุนายน 2557 โรงเรียนตาคลีประชาสรรค์ จัดงานไหว้ครู ณ.หอประชุม TP HALL

วันอังคารที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2557

จับตาภาษาไทย

จับตาภาษาไทย
                                                               ครูนุช  ม่วงเก่า


น้องน้ำ
               จับตาภาษาไทยฉบับนี้  ครูนุชชวนสนทนาภาษาน้ำท่วมกันต่อนะคะ
            “น้องน้ำ”  คำนี้เป็นความงามในภาษาอีกเหมือนกัน
การการสมมติสรรพสิ่งที่ไม่ใช่คนให้เป็นคน ภาษาวิชาการเขาเรียกว่า บุคคลวัต ค่ะ คำนี้นักเรียนม.ปลายจำให้ดีนะคะ  คำว่า “น้องน้ำ” ยังแสดงอิทธิพลของภาษาอีกอย่างหนึ่ง  ความละเอียดลออในการสื่อสารในปัจจุบันมีมากขึ้น คำบางคำอาจก่อให้เกิดความรู้สึกกดขี่ หรือ ฟังดูเหยียดหยาม จึงมีการเลี่ยงคำเกิดขึ้น   เช่น เราไม่เรียกผู้ใช้แรงงานว่า กรรมกร   ไม่เรียกคนทำงานบ้าน ว่า คนใช้  ไม่เรียกหญิงขายบริการว่า โสเภณี  ฉะนั้น การนับญาติกับน้ำก็นับเป็นการสร้างความรู้สึกดีๆในการใช้ภาษา   ทั้งนี้ไม่นับ “พ่อน้ำ” นะคะ  คำว่า “ พ่อน้ำ” ทีตีคู่มากับ “น้องน้ำ” นั้นเป็นคนละกรณีกัน กรณีนี้เป็นสัญลักษณ์ค่ะ สัญลักษณ์ว่า น้ำ คือ ภัย เพราะฉะนั้น พ่อน้ำ ก็คือ ภัยตัวพ่อ หรือจะเรียกว่า มหาภัยก็น่าจะถูก คงไม่ต้องบอกนะคะว่า ผู้ที่ได้รับฉายาว่า พ่อน้ำ คือใคร
            “ถุงจัดหนัก”   คำนี้เป็นคำเกิดใหม่จากสถานการณ์น้ำท่วมค่ะ 

คนไทยเป็นคนอารมณ์ดี มองโลกในแง่ดี  ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากมหาอุทกภัย จะพยายามคิดในทางดี  เช่น  ๓๐ ปีได้ล้างบ้านสักทีก็ดีเหมือนกัน   แฟชั่นน้ำท่วมก็ออกมาสารพัดแบบ  หากิจกรรมสนุกๆทำเต้นรำในสายน้ำ  นอนฟังวิทยุบนแพที่ทำจากโฟม เป็นต้น   และสิ่งที่ต้องขอบคุณน้องน้ำอีกอย่างก็คือ  มีนวัตกรรมใหม่ๆเกิดขึ้นจากน้ำท่วมมากมาย ครูนุช หมายถึงนวัตกรรมจริงๆค่ะ ไม่ใช่เสียดสี อย่าง “ถุงจัดหนัก “ เนี่ยเป็นนวัตกรรมของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ที่คิดวิธีการปลดทุกข์ให้ปลอดภัยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมที่ย่ำแย่อยู่แล้ว  ด้วยการประดิษฐ์”ถุงจัดหนัก”  “ถุงจัดหนัก”  ก็คือถุงใส่ อึ นั่นแหละค่ะ พอปลดทุกข์เสร็จก็รวบรวมถุงจัดหนักเล็กใส่ถุงใหญ่   จัดการฝังดิน แล้วถุงนั้นก็จะสลายตัวในดินได้  เป็นหนึ่งนวัตกรรมที่เกิดมาจากน้ำท่วม  น่าสนใจทีเดียวค่ะ  ฉบับหน้าจะเล่าถึงนวัตกรรมอื่นๆต่อไป  อย่าลืมติดตามนะคะ

วันอาทิตย์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2557

Floodway






Floodway
จับตาภาษาไทยฉบับนี้มาแบบลูกครึ่ง ไม่ใช่ครึ่งผีครึ่งคนนะคะ..เป็นครึ่งไทยครึ่งฝรั่งค่ะ... ว่ากันด้วยเรื่องภาษาน้ำท่วมที่เป็นคำทับศัพท์กันบ้าง  เป็นหนึ่งในความเปลี่ยนแปลงของภาษา เมื่อเรามีวิทยาการใหม่ๆ นวัตกรรมใหม่ๆ สิ่งแวดล้อมใหม่ๆ  ภาษาใหม่ๆก็ตามมา ..ภาษาใหม่ๆนี้อาจมาในรูปแบบคำทับศัพท์ หรือศัพท์บัญญัติ ก็ได้ วันนี้คุยเรื่องคำทับศัพท์ก่อนนะคะ
คำแรกคือคำว่า Floodway ความจริงคำนี้ก็ไม่ใหม่นัก เพราะเป็นคำที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงกล่าวถึงมาตั้งแต่ปี ๒๕๓๘  floodway ก็คือ ทางน้ำผ่าน อันเนื่องมาจากพระวิสัยทัศน์ สายพระเนตรยาวไกลที่เคยทรงทำนายทายทักไว้ว่า น้ำจะท่วมใหญ่ เราจะต้องหาทางแก้ไข  ไม่ใช่ป้องกัน แต่แนวพระราชดำริคือเราต้องอยู่กับภาวะน้ำท่วมให้ได้ โดยการสร้างเส้นทางระบายน้ำเพิ่มเติม (Flood Way) โดย Flood Way นี้ อาจสร้างในพื้นที่ทางการเกษตรในพื้นที่ลุ่ม เหมือนกับเส้นทางมอเตอร์เวย์ โดยในช่วงฤดูแล้งสามารถเปิดเป็นถนนให้รถวิ่งสัญจรไปมาได้ แต่ฤดูฝนจะปิดถนนให้เป็นช่องระบายน้ำ
เคียงคู่มากับคำว่า Floodway คือคำว่า  Green  Belt  กรีนเบลท์  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแปลว่า  แนวสีเขียว  เป็นพื้นที่สำหรับปล่อยให้น้ำไหลผ่านจากที่สูงลงที่ต่ำเพื่อให้น้ำไหลไปในทิศทางที่ต้องการให้ไป  เช่นเดียวกับ Flood Way
ที่มาของคำ Floodway  และ  Green  Belt  นายปราโมทย์  ไม้กลัด อดีตอธิบดีกรมชลประทาน  เล่าว่า  คำว่า ฟลัดเวย์ ที่รับสั่งเมื่อปี 2538 เป็นการรับสั่งครั้งที่ 3 ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2523 รับ สั่งเช่นกัน แต่ตอนนั้นทรงใช้คำว่า "กรีนเบลท์" หมายถึง ทางสีเขียวยาวๆ แบบเข็มขัด คือพื้นที่ทำนาที่ไม่มีบ้านเรือนประชาชนอาศัยอยู่ ใช้เป็นทางน้ำผ่านยามน้ำหลาก เมื่อปี 2533 น้ำก็ท่วมอีก ยังรับสั่งถามถึงกรีนเบลท์ว่า  กรีนเบลท์ยังอยู่ดีหรือเปล่า พอต่อมาปี 2538 ก็ทรงเปลี่ยนจากกรีนเบลท์มาเป็นฟลัดเวย์
คำทับศัพท์คำที่ ๓ ที่อยากนำเสนอก็คือคำว่า Big Bag บิ๊กแบ็ก หรือ กระสอบทรายยักษ์ ถุงยักษ์ขนาด 1 เมตร ยาว 1 เมตร สูงเมตรครึ่ง  หนัก 1 ตัน หรือ 1,000 กิโลกรัม บรรจุด้วย ทราย หินคลุก และหินกรวดถุงเล็กๆ  ถุงที่นำมาใช้เป็น Big Bag นั้น เป็นถุงที่ออกแบบใช้บรรจุแป้งมัน  Big Bag นำมาใช้สร้างทำนบกั้นน้ำ เพื่อปิดกั้นและเปลี่ยนทิศทางมวลน้ำ
คำทับศัพท์คำที่ ๔ คือ em ball  อีเอ็มบอล  คือก้อนจุลินทรีย์บำบัดน้ำเสีย ซึ่งมีส่วนผสมของรำ ดินทราย แกลบป่น และ EM แล้วนำมาปั้นให้เป็นลูกกลมๆ  ผึ่งแดดให้แห้ง ๓ วัน แล้วนำไปทิ้งลงในพื้นที่น้ำท่วมเพื่อลดความเน่าเสียของน้ำในแหล่ง ที่พักอาศัย เพื่อไม่ให้เกิดกลิ่นเน่าเหม็นและก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพตามมา เป็นโครงการของสำนักงานทูตความดีแห่งประเทศไทย ค่ะ

พบกันใหม่ฉบับหน้านะคะ..สวัสดีค่ะ

จดหมายรัก
          จดหมายรัก  คือชื่อของภาพยนตร์ไทยเรื่องหนึ่ง นำแสดงโดยแอน  ทองประสม  และ อรรถพร    ธีมากร  เป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องซึ้งอีกเรื่องหนึ่งที่ครูนุชชอบมากๆ เสียน้ำตาไปเยอะกับตอนท้ายของเรื่อง แก่นของเรื่องคือแสดงถึงอานุภาพของการสื่อสารแบบเก่าที่ขลังและมีมนต์เสน่ห์มากกว่าการสื่อสารแบบใหม่ที่ฉาบฉวยและอันตราย
          นางเอกของเรื่องเป็นสาวสมัยไอที เก่งเรื่องของคอมพิวเตอร์มากๆในขณะที่พระเอกเป็นนักวิจัยอยู่บนดอยอยู่กับพืชพันธุ์ไม้และธรรมชาติ  เรื่องอินเตอร์เน็ตสำหรับพระเอกเป็นเรื่องไกลตัว  นางเอกมีเหตุต้องไปรับมรดกของป้าคือบ้านหลังหนึ่งที่บนดอยโน่น..สิ่งที่นางเอกได้พบที่บ้านหลังนั้นก็คือจดหมายรักของป้ากับลุงที่ป้าเก็บไว้เป็นสิบๆปี แม้กระดาษจะเก่ากรอบ หมึกจะซีดจางแต่ลายมือเขียนด้วยหมึกซึมสวยงามก็ยังอ่านได้ซาบซึ้งถึงความรักของหนุ่มสาวสมัยโบราณ เมื่อพระเอกนางเอกเริ่มมีใจให้กัน นางเอกกลับกรุงเทพฯ พระเอกของเรื่องเพียรพยายามที่จะส่งอีเมลล์ให้นางเอก พยายามนั่งปั้นตัวอักษรอยู่เป็นนานสองนาน  ปรากฏว่ายังไม่ทันได้ส่งเพื่อนก็เตะปลั๊กไฟหลุด  ข้อความที่นั่งปั้นมาครี่งวันหายเกลี้ยง..ภาพยนตร์ ยังชี้ให้เห็นโทษของไอทีตรงที่ใช้เป็นอาวุธประหัตประหารกัน เพื่อนนางเอกต้องตายเพราะติดกับดักไอที  ก็คือแช็ท (พูดคุย)กับคนแปลกหน้า หลอกกันไปหลอกกันมา ถูกลวงไปฆ่าตาย ฆาตกรก็คือ “เศรษฐีแขกขาว”กำมะลอ ที่ได้พบกันในอินเตอร์เน็ต ส่วนพระเอกและนางเอกตกลงใช้ชีวิตคู่กันจดหมาย รักของพระเอกและนางเอกมาเริ่มเมื่อ...พระเอกตายจากนางเอกด้วยโรคทางสมอง พระเอกตายจากไปแล้วแต่กลับมีจดหมายมาถึงนางเอกทุกสัปดาห์ เป็นหลายสัปดาห์ เป็นจดหมายร่ำลา ให้กำลังใจ ปลอบใจ  สุดท้ายนางเอกจับได้ว่าพระเอกแอบเขียนจดหมายไว้แล้วก็ขอให้พ่อค้าในตลาดช่วยส่งจดหมายให้นางเอกสัปดาห์ละฉบับ..จนคิดว่าถึงเวลาที่นางเอกน่าจะทำใจกับการจากได้แล้วนั่นแหละพระเอกจึงเลือกใช้คลิปวีดิทัศน์ ร่ำลานางเอกจริงๆ  นี่ถ้าพระเอกเลือกใช้อีเมลล์ติดต่อกับนางเอก (อาจจะโดยใครก็ตามที่ส่งเมลล์แทน) นางเอกก็คงจับได้นานแล้วว่าที่แท้เป็นจดหมายหลอกๆ เพราะพระเอกใช้อินเตอร์เน็ต ไม่เป็น แต่เมื่อพระเอกเลือกที่จะใช้จดหมาย จึงได้เห็นความรักอันซาบซึ้งของคนสองคน นี่คืออานุภาพของจดหมาย
          นอกจากจะเป็นเครื่องมือสื่อสารในสมัยก่อนแล้ว จดหมายยังเป็นเครื่องมือเดินเรื่องนวนินายด้วย คุณทมยันตีเขียนนวนิยายเรื่อง ในฝัน  เป็นนวนิยายเรื่องแรกในชีวิต เธอเขียนเมื่ออายุ ๑๖ ปี เธอเขียนในรูปแบบจดหมาย  ค่ะ
 เวลาของจดหมายในปัจจุบันเริ่มสั้นลง..เราจะได้เห็นจดหมายกันก็ในงานราชการ และเป็นจดหมายที่เลือกส่งกันทาง e- office  (อีกรูปแบบของอีเมลล์ ) อาศัยสะดวกเข้าว่าบางทีก็ไม่ถึงผู้รับเพราะคนรับไม่ได้เปิด e- office  ดูก็มี
แม้ว่าในหลักสูตรการเรียนการสอนจะมีสาระเรื่องการเขียนจดหมายให้เด็กได้เรียน แต่ก็เป็นเพียงตำนาน ที่ไม่ได้ใช้จริงในชีวิตประจำวันเสียแล้ว เดี๋ยวนี้เด็กๆลาครูด้วยโทรศัพท์  ถ้าจะกล้ำกลืนเขียนจดหมายก็เขียนผิดเขียนถูก ผิดทั้งภาษา และรูปแบบของจดหมาย     

ในฐานะเป็นครูภาษาไทยเองก็มองลมหายใจของจดหมายอย่างเศร้าๆเหมือนกันค่ะ
คอมพ์วางตัก
หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก ฉบับวันที่ ๙ กรกฎาคม  ๒๕๕๔ ลงข่าวความเคลื่อนไหวในวงการภาษาไทย โดย ศาสตราจารย์ ดร.กาญจนา  นาคสกุล  ราชบัณฑิตยสถานและนายกสมาคมครูภาษาไทย กล่าวว่า      ราชบัณฑิตได้บัญญัติคำศัพท์ใหม่ของคำว่า แล็ปท็อป ( laptop  computer ) ว่า คอมพ์วางตัก หรือ คอมพิวเตอร์วางตัก  ผู้เขียนเองมีความเข้าใจไขว้เขวในคำว่า แล็ปท็อป และ แท็บเล็ต   คิดว่า แล็ปท็อป คือ แท็บเล็ต  แท้จริงไมใช่ค่ะ..สอบถามจากกูรู ( ครูพิสุทธิศักดิ์  หนูเมืองธำรง ) ได้ความว่า แล็ปท็อป คือ  โน้ตบุ๊ค เรานี่เอง..แหม ! เกือบปล่อยไก่เสียแล้ว
ประเด็นจับตาภาษาไทยวันนี้คือ การสร้างคำภาษาไทยขึ้นมาใช้แทนคำภาษาต่างประเทศดังกล่าว เรียกว่า การบัญญัติศัพท์   และคำที่เกิดขึ้นจากการบัญญัตินั้น เราเรียกว่า ศัพท์บัญญัติค่ะ   ศัพท์บัญญัติ คือ คำสร้างใหม่เพื่อใช้แทนคำภาษาต่างประเทศที่เกี่ยวกับวิทยาการต่างๆ ใหม่ๆ ที่หลั่งไหลเข้ามาไม่ขาดสาย     หน้าที่ในการบัญญัติศัพท์ใหม่เพื่อใช้ในภาษาไทยอย่างถูกต้องตามแบบแผนของภาษาเป็นหน้าที่ของราชบัณฑิตยสถาน ซึ่งประกอบด้วยนักปราชญ์ราชบัณฑิตทางภาษา  คำศัพท์ที่บัญญัติโดยนักปราชญ์ราชบัณฑิตแล้วประกาศอย่างเป็นทางการ ถือว่าเป็นคำภาษาไทยที่ถูกต้องตามแบบแผน หรืออีกนัยหนึ่งคือคำที่ถูกต้องตามกฎหมายของภาษา  คำใดที่ไม่ได้บัญญัติโดยราชบัณฑิตยสถานถือเป็นคำสร้างใหม่ที่ใช้กันเอง ไม่เป็นภาษาแบบแผน   ซึ่งบางทีกว่าราชบัณฑิตยสถานจะบัญญัติศัพท์ใหม่ได้  คำที่สร้างอย่างสนุกๆเหล่านั้นก็ใช้กันจนแพร่หลายไปแล้ว    เคยมีความเข้าใจผิดตลกๆ เรื่องคำศัพท์บัญญัติทางคอมพิวเตอร์มาสมัยหนึ่ง  ว่า   ศัพท์คำว่า ฮาร์ดแวร์ ราชบัณฑิตยสถานบัญญัติว่า  กระด้างภัณฑ์   ซอฟท์แวร์  คือ  ละมุนภัณฑ์  และ จอยสติ๊ก  คือ  แท่งหรรษา   จนคนนำศัพท์เหล่านี้ไปล้อเลียนกันอย่างสนุกสนาน ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ราชบัณฑิตยสถาน บัญญัติคำว่า  ฮาร์ดแวร์ คือ  ส่วนเครื่อง  หรือ  ส่วนอุปกรณ์ ส่วน ซอฟท์แวร์ คือ ส่วนชุดคำสั่ง และ จอยสติ๊ก .ใช้ว่า ก้านควบคุม  จากนั้นก็เกิดคำที่สร้างล้อเลียนเพิ่มเติมอีก  เช่น  กูเกิลพลัส (Google+) คือ อสงไขยสนธิ  ทวิตเตอร์ (TWITTER) คือ สำเนียงสกุณา    ไฮไฟว์ (HI 5) คือ เบญจสวัสดี    เฟซบุ๊ก (Facebook) คือ พักตร์ปกรณ์     มายสเปซ (MySpace) คือ ปริภูมิอัตตโน ยูทูบ (YouTube) คือ ท่านท่อ  ย้ำ..คำเหล่านี้ไม่ได้บัญญัติโดยราชบัณฑิตเลย น่าจะนับเป็นคำคะนอง (ที่ไมใช่          คำสแลง) ก็ได้  คือคำที่เกิดจากความคะนอง  คะนองที่จะคิด คะนองที่จะลองใช้   ถือเป็นจุดอ่อนทางภาษาไหม  ผู้เขียนมองว่ามันคือความเคลื่อนไหวทางภาษาที่น่าจับตามองมากกว่าค่ะ อย่างน้อยก็นับว่าคนคิดศัพท์เป็นคนมีวงศัพท์ภาษาไทยสูงไม่เบา ฉบับหน้าจะแนะนำศัพท์บัญญัติทางคอมพิวเตอร์ที่ถูกแบบแผนนะคะ

จับตาภาษาไทยฉบับนี้จะหนักไปไหมคะ...ต้องขออภัยผู้อ่านด้วย..ฉบับนี้ครูนุชจับผู้อ่านมานั่งเรียนภาษาไทยม.๖ เสียแล้ว  อยากให้นักเรียน ม.ปลายได้อ่านคอลัมน์นี้จัง  เพราะครูนุชพูดถึงเนื้อหาภาษาไทยในระดับ ม.๖ เลยนะเนี่ย